กรุณาปิด โปรแกรมบล๊อกโฆษณา เพราะเราอยู่ได้ด้วยโฆษณาที่ท่านเห็น
Please close the adblock program. Because we can live with the ads you see


ข่าว จีนจ้องคุณอยู่? จริงหรือมั่วที่รัฐบาลจีนคุม TikTok ได้

  • ผู้เริ่มหัวข้อ ผู้เริ่มหัวข้อNews 
  • วันที่เริ่มต้น วันที่เริ่มต้น

News 

Moderator
สมาชิกทีมงาน
Moderator
Verify member
การแบ่งขั้วแยกข้างในสหรัฐฯ นับวันก็ยิ่งร้าวลึก ไม่ใช่แค่มีเรื่องให้เห็นต่างกันมากขึ้นระหว่างเดโมแครตและรีพับบลิกัน แต่ดีกรีความเห็นต่างในแต่ละเรื่องก็ทวีความเข้มข้น แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ 2 ขั้วเห็นพ้องต้องกัน นั่นคือประเด็นเรื่องจีน

ถ้าใครได้ตามข่าวต่างประเทศอยู่บ่อย ๆ น่าจะผ่านตากันมาบ้างกับประเด็นที่สหรัฐฯ พยายามบีบให้ TikTok แยกกิจการจาก ByteDance (บริษัทแม่ในจีน) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเกิน 80% เห็นด้วยในเรื่องนี้ แม้สองพรรคใหญ่จะแบ่งเก้าอี้กันครึ่งต่อครึ่งในสภาทั้งสอง ย้ำชัดถึงความกลมเกลียวกับในเรื่องจีน

ต้นสายปลายเหตุของเรื่องนี้คือการที่ทางการสหรัฐฯ กังวลว่า TikTok อาจเปิดช่องให้ทางการจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลบนแพลตฟอร์มภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายจีน ตลอดจนอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีเหนือบรรดาผู้ประกอบการโดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีของจีน ส่วน FBI เตือนถึงความเป็นไปได้ในการแผ่อิทธิผลด้านข้อมูลข่าวสารผ่าน TikTok

alt=TikTok


คำถามสำคัญคือ ความกังวลของสหรัฐฯ มีมูลแค่ไหน? เพื่อจะทำความเข้าใจ เราต้องลองลอกเปลือกหัวหอมออกมาดูกันทีละชั้น

เสียงเล่าอ้างจากอดีตพนักงาน TikTok​


หลายคนน่าจะรู้กันอยู่แล้วว่า ByteDance คือร่มใหญ่ของแอปหลาย ๆ ตัว เช่น TikTok (แอปวิดีโอสั้นที่ดำเนินงานทั่วโลก) Douyin (แอปคล้าย TikTok ในเวอร์ชันจีน) Jinri Toutiao (แอปอ่านข่าวของจีน) และอื่น ๆ

ซึ่ง TikTok เน้นย้ำเสมอว่า การดำเนินงานนอกจีนและในจีนนั้นแยกขาดออกจากกัน

อย่างไรก็ตาม มีรายงานจาก Wall Street Journal ออกมาว่าบางครั้งพนักงาน TikTok ในสหรัฐฯ ก็แชร์ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น อีเมล วันเกิด หรือ IP Address กับเพื่อนร่วมงานที่ ByteDance ผ่านแอปส่งข้อความที่ใช้งานกันในบริษัท เรื่องนี้อาจเป็นสัดส่วนข้อมูลเล็ก ๆ แต่นักวิจัยจาก Johns Hopkins มองว่าเป็นหลักฐานสำคัญว่า TikTok ไม่ได้จริงจังมากพอที่จะแยกการดำเนินงานในจีนและสหรัฐฯ

นอกจากนี้ เมื่อต้นปีมานี้ อดีตลูกจ้างของ TikTok ออกมาเปิดเผยกับ Fortune ว่าตนได้ทำงานเกี่ยวกับการส่งข้อมูลจากสหรัฐฯ ไปยังจีน และยังมีสายบังคับบัญชาลับ ๆ ที่พนักงานสหรัฐฯ ขึ้นต่อผู้บริหาร ByteDance ในจีนโดยตรง

ตรงนี้เป็นข้อสังเกตเล็ก ๆ ว่า เอาเข้าจริง TikTok และ ByteDance ในจีนก็มีจุดเชื่อมต่อกัน ซึ่งถ้าเจาะดูในรายละเอียดก็จะเห็นภาพใหญ่ที่ชัดเจนขึ้น

ByteDance เผยว่าหุ้นราว 60% อยู่ในมือของนักลงทุนสถาบันทั่วโลก เช่น BlackRock อีกราว 20% เป็นของผู้ก่อตั้ง และอีก 20% เป็นของพนักงานทั่วโลก (รวมถึงพนักงาน 7,000 คน ในสหรัฐฯ) พยายามนำเสนอภาพว่าตนเป็นบริษัทจีนที่มีความเป็นสากลสูง

alt=TikTok


แต่ CNN ตั้งจุดสังเกตที่อาจเผยให้เห็นสายสัมพันธ์ของทางการจีนและบริษัทเอาไว้บางส่วน ดังนี้

  • กฎหมายจีนกำหนดให้บริษัทต้องให้ความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสาร ในปี 2021 จีนริเริ่มกฎหมายความมั่นคงด้านข้อมูลฉบับใหม่ ครอบคลุมกิจกรรมนอกประเทศที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติหรือผลประโยชน์สาธารณะ
  • หน่วยงานกำกับดูแลจีนมี Golden Share ใน ByteDance เหมือนกับบริษัทเทครายอื่นในจีน โดยแม้จะเป็นสัดส่วนหุ้นแค่ 1% แต่เป็นหุ้นที่มีสิทธิโหวตสูง มีอำนาจกำหนดทิศทางบริษัท
  • มีคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ในบริษัท เหมือนกับบริษัทจีนอื่น ๆ

ถึงจุดนี้ก็พอมีช่องให้ตีความว่าทางการจีนสามารถเข้ามามีบทบาทบางอย่างหากต้องการเพราะมีกลไกไม่น้อยสอดรับอยู่

เปิดดาต้า คอนเทนต์แอนตี้จีนมีน้อยบน TikTok​


คำถามต่อมาคือ หน่วยงานรัฐบาลจีนมีอำนาจ มีสิทธิใน ByteDance แล้ว ส่งผลในทางปฏิบัติของการดำเนินงานแค่ไหน? ในเรื่องนี้มีสถาบันวิจัยชั้นนำด้านการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารอย่าง Network Contagion Research Institute (NCRI) เข้าไปศึกษาและได้ผลสรุปที่น่าสนใจออกมา

NCRI ศึกษาโดยเปรียบเทียบว่าใน TikTok และ Instagram มีจำนวนเนื้อหาแต่ละประเภทต่างกันแค่ไหน (โดยจำแนกประเภทผ่านแฮชแท็ก) โดยใช้ฟีเจอร์ Ads Manager ของ TikTok และ Explore ของ Instagram

ในช่วงเวลาที่ศึกษา Instagram มีผู้ใช้ประมาณ 2 พันล้านราย ส่วน TikTok มีผู้ใช้ 1.5 พันล้านราย (IG มากกว่า TikTok 1.3 เท่า) ดังนั้น จำนวนคอนเทนต์ประเด็นต่าง ๆ จึงน่าจะถูกเผยแพร่ใน IG มากกว่า TikTok 1.5 - 2 เท่า

สิ่งที่พบคือ ในประเด็นทั่ว ๆ ไป เช่น วัฒนธรรมป็อป (เช่น #TaylorSwift) และการเมืองสหรัฐฯ (เช่น #Republican) จำนวนคอนเทนต์ใน IG มีจำนวนมากกว่าเป็น 2.2 เท่า และ 2.6 เท่าของ TikTok ซึ่งยังถือว่าปกติ

แต่ถ้าเป็นประเด็นที่อ่อนไหวสำหรับทางการจีน ตัวเลขจะเป็นอีกแบบทันที เช่น

  • อุยกูร์ 11.1 เท่า (IG มากกว่า TikTok เยอะมาก)
  • ทิเบต 37.7 เท่า
  • การประท้วงในฮ่องกง 181.1 เท่า
  • เทียนอันเหมิน 81.5 เท่า
  • ทะเลจีนใต้ 20.6 เท่า
  • ไต้หวัน 15.3 เท่า

alt=TikTok
alt=TikTok


ส่วนประเด็นระหว่างประเทศก็มีแนวโน้มคล้าย ๆ กัน

  • ยูเครน 8.5 เท่า (จีนต้องคงท่าทีเป็นกลาง เพราะเป็นมิตรกับรัสเซีย)
  • อิสราเอล 6.2 เท่า (จีนต้องคงท่าทีต่อต้านอิสราเอลเพื่อสร้างสมดุลกับประเทศอาหรับและคานกับสหรัฐฯ)

แต่ในประเด็นที่เป็นเผยแพร่แล้วเป็นประโยชน์กับจีน เช่น เอกราชแคชเมียร์ (เป็นประโยชน์ต่อจีนเพราะหากเกิดขึ้นแล้วจะบ่อนเซาะอิทธิพลของอินเดียในเอเชียกลางซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหวของจีน) TikTok กลับมีจำนวนคอนเทนต์มากเป็น 619 เท่าของ Instagram โดยมีจำนวนโพสต์มากถึง 230 ล้านโพสต์ (เทียบกับโพสต์ในประเด็นคล้าย ๆ กันคืออุยกูร์คือมีแค่ 50,000 โพสต์)

alt=TikTok


  • หากจะบอกว่า คนเล่น TikTok ไม่สนใจการเมืองโลกก็คงไม่ใช่ เพราะจำนวนโพสต์เกี่ยวกับแคชเมียร์ ยังมากกว่าโพสต์ที่ติดแฮชแท็ก #CristianoRonaldo (7 ล้านโพสต์) และ #HarryStyles (10 ล้านโพสต์) ซึ่งก็น่าตั้งคำถามว่าทำไมโพสต์ในประเด็นโลกอื่น ๆ เช่น ทิเบตหรือยูเครนกลับถูกละเลยใน TikTok
  • หรือในอีกมุม ตัวเลข 230 ล้านโพสต์เรื่องแคชเมียร์ซึ่งค่อนข้างเฉพาะทาง (แต่กลับมีโพสต์มากกว่าประเด็นแมส ๆ) ก็ชวนให้ตั้งข้อสังเกตว่า TikTok มีส่วนเข้ามาช่วยผลักดัน (หรือเซ็นเซอร์) คอนเทนต์ในบางประเด็นตามผลประโยชน์ของจีน

TikTok ออกมาแก้ต่าง​


หลังจาก NCRI เผยผลการศึกษานี้ในช่วงปลายปี 2023 ไม่นาน

  • TikTok ได้นำฟีเจอร์ค้นหาข้อมูลแฮชแท็กใน Creative Center ออกทันที
  • และยังลบแฮชแท็กหลายตัวที่ NCRI เข้าไปเก็บข้อมูล เช่น อุยกูร์ เทียนอันเหมิน และปาเลสไตน์

alt=TikTok


TikTok ยังรีบออกมาแก้ต่างโดยระบุว่าการศึกษาจำนวนคอนเทนต์ไม่ได้บ่งบอกว่า TikTok ดันหรือเซ็นเซอร์บางประเด็น เช่น ในกรณีของคอนเทนต์เข้าข้างปาเลสไตน์ที่มีมากกว่าอิสราเอลก็เพราะคนอเมริกันยุคใหม่เห็นอกเห็นใจปาเลสไตน์มากขึ้น

ประเด็นคือ ถ้าเรื่องนี้เป็นแนวโน้มในภาพรวม จำนวนคอนเทนต์สนับสนุนอิสราเอลก็ควรมีจำนวนไม่หนีกันมากในทั้ง 2 แพลตฟอร์ม แต่ตัวเลขปัจจุบันคือคอนเทนต์บน IG มีมากเป็น 6 เท่าของ TikTok (1,000,000 โพสต์ กับ 170,000 โพสต์)

alt=TikTok


นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยด้านสื่ออย่าง Paul Matzko ออกมาบอกอีกด้วยว่า Instagram เกิดก่อน TikTok ทำให้บางประเด็น เช่น ทิเบต ที่เคยเป็นที่สนใจในอดีตไม่เป็นที่นิยมอีกแล้วในปัจจุบัน

แต่ข้อวิจารณ์นี้อาจเจือจางลงไปเพราประเด็นที่เกิดขึ้นในเงื่อนเวลาคล้ายกันกับทิเบต (คือเป็นกรณีที่เกี่ยวพันกับจีนมานาน) อย่างกรณีแคชเมียร์กลับได้รับความนิยมใน TikTok อย่างล้นหลาม ส่วนประเด็นที่ถือว่าเก่าแก่เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มทั้งสองอย่างเทียนอันเหมินกลับมีจำนวนโพสต์น้อยแค่ใน TikTok เท่านั้น

บริษัทเทคโลก = สมรภูมิโลก?​


ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนในหลากหลายสมรภูมิ TikTok กลายเป็นอีกหนึ่งหัวหาดของความกังวลด้านความมั่นคงทางข้อมูลและการแผ่อิทธิพลทางการเมือง แม้ว่า TikTok จะพยายามยืนยันถึงความเป็นอิสระจากการแทรกแซงของรัฐบาลจีน แต่หลักฐานบางส่วนก็มีน้ำหนักให้ฝากสหรัฐฯ เป็นกังวลและเริ่มท่าทีเชิงรุก

ในขณะที่การถกเถียงเรื่องนี้ยังคงดำเนินต่อไป สิ่งที่ชัดเจนเสมอมาคือบริษัทยักษ์ใหญ่บนเวทีโลกต่างสื่อถึงให้เห็นนัยยะทางการเมืองโลกได้มากแค่ไหน

ในอดีต Sharp, Panasonic, Toyota เป็นตัวแทนความรักและชังระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น

ต่อมา Samsung ก็เน้นให้เห็นความสำคัญของเกาหลีใต้ที่ห้ามละสายตา TSMC ในตอนนี้ก็เป็นดั่งสมรภูมิชี้ขาดของสหรัฐฯ และจีน

ส่วน TikTok คืออีกยุคของความขัดแย้งที่วัดด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไม่มีใครอยากแพ้

อ้างอิง: NCRI ,TikTok, NYTimes, Fortune, Washington Post, Bloomberg

Topics:
TikTok
China
USA
Law

Continue reading...
 

กรุณาปิด โปรแกรมบล๊อกโฆษณา เพราะเราอยู่ได้ด้วยโฆษณาที่ท่านเห็น
Please close the adblock program. Because we can live with the ads you see
กลับ
ยอดนิยม ด้านล่าง