กรุณาปิด โปรแกรมบล๊อกโฆษณา เพราะเราอยู่ได้ด้วยโฆษณาที่ท่านเห็น
Please close the adblock program. Because we can live with the ads you see


ข่าว เป็นเจ้าของแบบใด? เงินก็จ่ายแต่ซ่อมเองไม่ได้ ไทยควรมีกฎหมาย Rights to Repair หรือยัง

  • ผู้เริ่มหัวข้อ ผู้เริ่มหัวข้อNews 
  • วันที่เริ่มต้น วันที่เริ่มต้น

News 

Moderator
สมาชิกทีมงาน
Moderator
Verify member
สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตหรือแล็บท็อปที่คุณกำลังใช้อ่านโพสต์นี้อยู่ คุณคิดว่าคุณเป็นเจ้าของมันจริงๆ “มีสิทธิเต็มรูปแบบ” กับมันอยู่ใช่ไหม ถ้าผมบอกว่า คุณไม่ได้เป็นเจ้าของมัน 100% โดยที่คุณไม่รู้ตัว หรืออาจจะรู้แต่ยังไม่เดือดร้อนกับมันล่ะ

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แนวคิดในการทำธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงจนทำให้ความอิสระหรือสิทธิ์ต่างๆ ที่เรามีกับอุปกรณือิเล็กทรอนิคส์ต่างๆ น้อยลงไปเรื่อยๆ จนเราถูกห้าม หรือแม้กระทั่งถูกลงโทษ เพียงแค่ต้องการบำรุงรักษาหรือซ่อมอุปกรณ์เหล่านั้น ใกล้ตัวเราที่สุดอาจจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตหรือแล็บท็อปนี่แหละ

หลายประเทศทั่วโลกทั้งฝั่งผู้บริโภคและภาครัฐ มีความพยายามผลักดันและสู้กลับเรื่องนี้ หลายๆ ประเทศมีกฎหมาย Rights to Repair ออกมาแล้ว เช่นอังกฤษ สหรัฐ และสหภาพยุโรป

แล้วประเทศไทย ควรผลักดันเรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะ จนนำไปสู่กระบวนการออกกฎหมายได้หรือยัง?

dd6c46ca630b0435d22f940d0081f4b8.jpg


ซื้อใหม่เถอะ คุ้มกว่า​


คุณพ่อใครหลายๆ คนในปัจจุบัน อาจจะยังมีพฤติกรรมแบบนี้อยู่ คือซ่อมอยู่ทุกอย่างด้วยตัวเอง ที่บ้านมีอุปกรณ์ครบครัน ไม่ต้องพึ่งช่างไม่ต้องพึ่งศูนย์ หรือสัก 10-20 ปีก่อน การเรียกช่างมาซ่อม หรือเอาอุปกรณ์เช่นโทรศัพท์มือถือ ไปซ่อมที่ร้านใกล้บ้าน ก็ดูจะเป็นเรื่องปกติ

แต่ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสบริโภคนิยม, การวางกลยุทธของบริษัทผู้ผลิตที่ทำให้อุปกรณ์ซ่อมยาก, ไปจนถึงกระบวนการผลิตที่ทำให้สินค้าหลายๆ อย่างมีราคาถูกลงมาเมื่อเทียบกับเมื่อค่าแรงในสมัยก่อน ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นไปในลักษณะ “ซื้อใหม่เหอะ คุ้มกว่า” ค่อนข้างมาก (Perzanowski, 2020)

Deloitte เผยแพร่ผลสำรวจผู้บริโภคราว 1,000 คนเกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่า 40% บอกว่าเลือกที่จะซื้อของใหม่เลย หากของเก่าเสีย อีก 7% บอกว่าอาจจะซื้อของมือ 2 หรือเครื่องซ่อม (refurbished) แทน โดยคนที่เลือกที่ไม่ซ่อม 60% บอกว่าสาเหตุหลักคือ ราคาค่าซ่อมที่สูงมาก

No Description


สิ่งที่สูญเสียไป จากการเลือกทิ้งเครื่องเก่าและซื้อเครื่องใหม่ ไม่ได้มีเพียงแค่ขยะอิเล็กทรอนิคส์ โดยข้อมูลจากรายงาน Global E-waste Monitor 2024 ของ United Nations Institute for Training and Research (UNITAR) เผยว่าปี 2022 ทั่วโลกผลิตขยะอิเล็กทรอนิคส์รวมกันกว่า 6.2 หมื่นล้านตันต่อปี ส่วนของไทยอยู่ที่ 7.5 แสนตันต่อปี แต่ยังมีเรื่องของเม็ดเงินที่ควรจะประหยัดได้ โดย EU ประเมินว่าเม็ดเงินตรงนี้ในภูมิภาคที่เสียไปอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านยูโรต่อปีเลยทีเดียว

การออกแบบให้หมดอายุขัย (planned obsolescence)​


จริงอยู่ที่ของทุกสิ่งมีวันหมดอายุขัย มีวันเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของมัน ไม่ว่าจะถูกใช้งานหรือไม่ถูกใช้ แต่แนวคิดของการออกแบบให้หมดอายุขัยนี้ คือการตั้งตั้นตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้เสื่อมลงหรือใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพภายในกรอบระยะเวลาหนึ่งๆ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคที่บริษัทผู้ผลิตมี ซึ่งปลายทางคือการบีบให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นการการันตีรายได้ในระยะยาวของบริษัททางหนึ่ง

ตัวอย่างที่ชัดเจนและหลายคนอาจจะจำได้ คือเมื่อปี 2017 ที่มีการทดสอบ ก่อนแอปเปิลจะออกมายอมรับว่า มีการปรับประสิทธิภาพ iPhone บางรุ่นลง หากแบตเตอรี่เสื่อม จนนำไปสู่การฟ้องร้อง และซัมซุงโดนปรับ กรณีทำให้ Galaxy Note 4 ช้าลงหลังอัพเดตซอฟต์แวร์

เป็นเจ้าของแบบใด?​


หนึ่งในแนวทางการออกแบบให้หมดอายุขัย ที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคตรงๆ และจับต้องได้ที่สุด คือการออกแบบการซ่อมอุปกรณ์เองนั้นมีความยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ เช่น การใช้น็อต Pentelope ที่ดาว 5 แฉกเป็นเหมือนสัญลักษณ์ดอกซากูระของแอปเปิล ซึ่งไม่ใช่หัวน็อตที่ใช้กันแพร่หลายและหาไขควงได้ทั่วไปในช่วงปี 2009-2010 โดยแอปเปิลใช้กับทั้ง MacBook Pro, MacBook Air และ iPhone ในช่วงนั้น

No Description
ภาพจาก iFixit

การกีดกันเรื่องการซ่อม แอปเปิลน่าจะมีชื่อเสียงเรื่องนี้มากที่สุดเจ้าหนึ่ง ด้วยความเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงและตัวอุปกรณ์มีความแพร่หลายในการใช้งาน โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การซ่อมหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์เอง หากไม่ได้ทำที่ร้านของแอปเปิลหรือพาร์ทเนอร์ (parts pairing) ก็มักจะถูกซอฟต์แวร์ล็อกการใช้งานพื้นฐานเช่น Face ID และหนึ่งในเคสที่โด่งดังที่สุดของกรณีนี้ คือการฟ้องร้องร้านซ่อมรายเล็กๆ ในนอร์เวย์ ที่สุดท้ายศาลฎีกาตัดสินให้แอปเปิลชนะ

ตัวอย่างอีกเคสคือ John Deere บริษัทผลิตเครื่องจักรการเกษตรของสหรัฐ ที่เคยใช้วิธีแบบเดียวกัน ปิดกั้นการซ่อมโดยช่างอิสระ และคิดค่าชิ้นส่วนหรือบริการที่ค่อนข้างแพง ซึ่งกรณีของ John Deere ไม่ได้กระทบลูกค้าแค่ในแง่ราคาค่าบริการ แต่ลูกค้าที่ใช้งานเครื่องจักรเหล่านี้ส่วนใหญ่ อยู่ในพื้นที่ห่างไกล การนำเครื่องจักรออกนอกพื้นที่ไปซ่อม ย่อมเสียเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่เป็นรายได้มากกว่าเดิม จนมีความพยายามเจลเบรค เครื่องจักรของ John Deere เลยด้วยซ้ำ

ข้ออ้างที่บริษัทใหญ่เหล่านี้ใช้เพื่อแก้ต่างนโยบายแบบนี้ คือเรื่องของมาตรฐานของชิ้นส่วน มาตรฐานการฐานและความปลอดภัยในการใช้งานของลูกค้า แต่มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้วิธีเหล่านี้ ไม่ว่าจะเรื่องดีไซน์ฮาร์ดแวร์, การใช้ซอฟต์แวร์ปิดกั้น, กฎหมายด้านสิทธิบัตร เป็นความพยายามใช้อำนาจของบริษัทผู้ผลิตที่มีเหนือฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ในการผูกขาดกระบวนการซ่อม เพื่อให้เม็ดเงินในกระบวนการซ่อม หรือแม้แต่การซื้อเครื่องใหม่ วนกลับไปหาผู้ผลิตแต่เพียงเจ้าเดียว (Tim Cook เคยยอมรับด้วยซ้ำว่า การเปลี่ยนแบตเตอรี่ราคาถูก จะกระทบยอดขาย iPhone) เท่ากับว่าแม้เราจะเป็นเจ้าของ แต่อำนาจในการควบคุมเหนืออุปกรณ์เหล่านี้ ยังเป็นของบริษัทอยู่ไม่น้อย (Perzanowski, 2021)

d4a6ed317f54952fd363769d3af1fec4.png


Rights to Repair ทั่วโลกและไทยไปถึงไหนแล้วตอนนี้?​


ด้วยแนวทางของผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ไปในทิศทางข้างต้นค่อนข้างมาก ทำให้การเคลื่อนไหวสิทธิ์ในการซ่อม เริ่มมีมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ฝรั่งเศสในปี 2021 ที่ออกกฎหมายบังคับให้บริษัทที่ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์และนำมาขายในฝรั่งเศส ต้องติดป้าย “ดัชนีความง่ายในการซ่อม (Repairability Index)” ซึ่งอิงมาจากการให้คะแนนของ iFixit ก่อนที่ล่าสุดในปีนี้ จะปรับมาเป็น “ดัชนีความทนทาน (Durability Index)” ที่เพิ่มเกณฑ์เรื่องการอัพเกรด, ความทนทานในการใช้งานหรือการบำรุงรักษาเพิ่มเข้าไปด้วย เช่นเดียวกับอังกฤษที่ออกกฎหมาย Rights to Repairs มาตั้งแต่ปี 2021 โดยให้เวลาผู้ผลิต 2 ปี เตรียมการในการทำให้ชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับซ่อม สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

No Description
ภาพจาก Ministère de la Transition écologique

ส่วนสหภาพยุโรปก็เพิ่งผ่านกฎหมายลักษณะเดียวกันปีที่แล้ว ที่ผู้บริโภค ต้องสามารถเข้าถึงทางเลือกในการซ่อมอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ได้ง่ายและถูกขึ้น หลังหมดประกัน ขณะที่สหรัฐอเมริกา ณ ตอนนี้มีเพียงมลรัฐนิวยอร์ค, โคโลราโด (เฉพาะอุปกรณ์การเกษตร), มินนิโซตา, แคลิฟอร์เนีย, โอเรกอน, และโคโลราโด ที่มีกฎหมายลักษณะนี้ อาจแตกต่างกันไปในรายละเอียด เช่นของโอเรกอน เป็นกฎหมายแบนการทำ parts pairing (ใช้ชิ้นส่วนที่ไม่ได้มาจากผู้ผลิตโดยตรงในการซ่อม)

อาจจะด้วยกลุ่มประเทศใหญ่ๆ ที่เป็นตลาดใหญ่อย่างในยุโรป หรือสหรัฐอเมริกาเองก็เริ่มมีการออกกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคลักษณะนี้ออกมา ทำให้เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงจากฝั่งผู้ผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะแอปเปิล ที่ถูกโจมตีเรื่องนี้มาตลอด ก็ออกโครงการ Self-Repair ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่มีกฎหมายครอบคลุม ซัมซุงออกโครงการ Self-Repair อุปกรณ์ Galaxy ในเกาหลีใต้ หรือกรณีของ John Derre ก็มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ให้ช่างภายนอกซ่อมเครื่องจักรได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ส่วนของเอเชีย ก็คงต้องติดตามต่อไปว่าโครงการของแอปเปิลและซัมซุงจะครอบคลุมหรือไม่ แม้ไม่มีกฎหมายก็ตาม

05abb7f5be7e7fd01dc0532066c09e1a.jpg


ไทยไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนี้​


ส่วนของไทยปัจจุบัน มีแค่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 2 หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ขาย มาตรา 472 ถึง 474 ที่ระบุให้ผู้ขาย รับผิดชอบกรณีสินค้าที่ขายมีการชำรุดบกพร่อง ซึ่งมีข้อยกเว้น กรณีที่ผู้ซื้อ เห็นว่ามีปัญหาอยู่แล้วตอนส่งมอบ และยอมรับสินค้านั้นเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายดังกล่าว เป็นเพียงการตีกรอบกว้างๆ ให้ผู้ขายหรือผู้ผลิตรับผิดชอบสินค้าที่มีปัญหาเท่านั้น ทำให้ในแง่การใช้งานจริง อาจจะอยู่ในรูปแบบของการรับประกัน 1-2 ปี แบบมีเงื่อนไขจ่ายเงินเพิ่มบางกรณี หรือการรับซ่อมแบบแบบเสียเงิน หลังหมดประกัน (ผู้เขียนตีความเอาเอง)

ขณะเดียวกันก็ยังมีความพยายามของในการผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. .... (ยังไม่ผ่านสภาและบังคับใช้) หรือชื่อเล่นว่า Lemon Law ที่เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ข้างต้น มีขอบเขตการรับผิดชอบของผู้ขายไม่ชัดเจน หรือสิทธิของลูกค้าที่ยังคลุมเครือ โดยสาระสำคัญของ Lemon Law ปัจจุบัน เป็นการกำหนดขอบเขตของผู้ขาย และให้สิทธิเรียกร้องต่อผู้ซื้อในการเปลี่ยนสินค้า ซ่อม ขอลดราคา หรือเลิกสัญญาการซื้อขาย

No Description
ภาพจาก Shutterstock

อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติในตัว Lemon Law เองก็ยังพูดถึงแค่สิทธิในการซ่อมจากผู้ขายหรือผู้ผลิตให้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น ทำให้ปัญหาข้างต้นที่กล่าวมาในบทความ ยังไม่ถูกแตะหรือพูดถึง เท่ากับว่า กฎหมายในลักษณะ Rights to Repair ของไทยนั้นยังไม่มีแม้แต่ร่าง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในบ้านเรา อาจจะอ่อนเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ทำให้การเรียกร้องกฎหมายด้านนี้ที่เข้มข้นขึ้น อาจจะมีอยู่หลายประเด็น รวมถึงไม่ได้มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้มากพอ (เพราะปัญหาบ้านเราเยอะ?) แต่ถึงเวลาหรือยังที่กฎหมาย Rights to Repair ควรกลายประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น และสอดแทรกไปกับกระบวนการนิติบัญญัติ ที่ทำให้ผู้บริโภคมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น ในการจัดการอุปกรณ์ที่ตัวเองซื้อมาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ที่ผู้บริโภค ไม่จำเป็นจำต้องเสียค่าซ่อมแพงๆ หรือเสียเงินเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ อย่างไม่จำเป็น

Topics:
Right-to-Repair
Special Report

Continue reading...
 

กรุณาปิด โปรแกรมบล๊อกโฆษณา เพราะเราอยู่ได้ด้วยโฆษณาที่ท่านเห็น
Please close the adblock program. Because we can live with the ads you see
กลับ
ยอดนิยม ด้านล่าง